วันที่ 26 ต.ค. 2566 เวลา 09:30 น. มีการประชุมคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติ และการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 4 ณ อาคารรัฐสภา วาระพิจารณาปัญหาและแนวทางแก้ไขเกี่ยวกับผู้ลี้ภัยและผู้หนีภัยการสู้รบตามแนวชายแดนไทย – เมียนมา โดยมีนายรังสิมันต์ โรม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) พรรคก้าวไกล ประธานกรรมาธิการฯ ทำหน้าที่ประธานการประชุม
คณะกรรมาธิการฯ ได้เชิญบุคคลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาชี้แจง ได้แก่ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ (กต.) และปลัดกระทรวงมหาดไทย (มท.)
รองอธิบดีกรมองค์การระหว่างประเทศ ในฐานะผู้แทนปลัดกระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยข้อมูลว่า รายงานล่าสุดเกี่ยวกับยอดผู้หนีภัยการสู้รบจากเมียนมา (ผภร.) มี77,838 คน กระจายในพื้นที่พักพิง 9 แห่ง ใน 4 จังหวัดชายแดนไทย – เมียนมา คือ แม่ฮ่องสอน 4 แห่ง ตาก 3 แห่ง กาญจนบุรี 1 แห่ง และราชบุรี 1 แห่ง โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ประมาณ 3-5 ล้านบาท/ปี ขณะที่กระทรวงมหาดไทยก็อนุญาตให้องค์กรที่ไม่ใช่รัฐบาล (NGO) 13 องค์กรดำเนินกิจกรรมให้ความช่วยเหลือดูแลด้านอาหาร สุขาภิบาล อนามัยเจริญพันธุ์ และการป้องกันทุ่นระเบิด เป็นต้น เนื่องจากสถานการณ์ความขัดแย้งในปัจจุบันมีแนวโน้มยืดเยื้อ ไม่น่าหาทางออกได้ในระยะสั้น คาดว่ากลุ่ม ผภร. ต้องอยู่ในประเทศไทยไปอีกสักพัก โดยล่าสุด พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้เห็นชอบในหลักการข้อเสนอของสหรัฐอเมริกา ในการตั้งถิ่นฐานใหม่ (Resettlement) ในสหรัฐอเมริกา โดยในขณะนี้ทาง UNHCR และกระทรวงมหาดไทยอยู่ระหว่างการเก็บสำรวจข้อมูลประชากรในพื้นที่พักพิงต่าง ๆ คาดว่าการดำเนินการจะแล้วเสร็จภายในปี 2566 ซึ่งคาดว่าสามารถตั้งถิ่นฐานใหม่ในรอบนี้ได้ถึง 2,500 คน
กลุ่มผู้หนีภัยความไม่สงบชาวเมียนมา (ผภสม.)มีการทยอยหนีภัยเข้ามาเป็นกลุ่มย่อย ๆ ในประเทศไทยรวมประมาณ51,280 ตั้งแต่เกิดเหตุการณ์รัฐประหารในเมียนมา เพื่อหนีการปะทะกันระหว่างกองทัพเมียนมาและชนกลุ่มน้อย บางส่วนเข้ามาเพียง 2-3 วัน โดยปัจจุบันเหลือ ผภสม. ติดอยู่ในประเทศไทยราว 7,000 คน กระจายอยู่ใน 5 แห่งตามแนวชายแดน โดยรัฐบาลมีการเตรียมการจัดทำพื้นที่ชั่วคราวรองรับ ซี่งอยู่ในความดูแลของกองทัพ ทั้งยังดำเนินการให้ความช่วยเหลือทวิภาคี และกรอบอาเซียน ซึ่งรัฐบาลมีศักยภาพในการดูแลคนเหล่านี้ได้เอง โดยไม่ได้ขอความช่วยเหลือจากองค์การระหว่างประเทศ
ผู้อำนวยการกองความมั่นคงภายในประเทศ ในฐานะผู้แทนเลขาธิการ สมช. ชี้แจงว่า ผู้หนีภัยชาวเมียนมาบางส่วน มีความต้องการอยู่ในประเทศไทย โดยนโยบายของไทยคืออนุญาตให้อยู่อาศัยเป็นการชั่วคราว สำหรับ ผภร. ไม่มีการจัดสอนภาษาไทยอย่างเป็นระบบ หรือแม้แต่ ผภสม. บางส่วนก็ไม่ประสงค์เรียนภาษาไทย เพราะต้องการเรียนภาษาอังกฤษหรือภาษาชนกลุ่มน้อยมากกว่า ขณะเดียวกัน สมช. ได้จัดตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจ ผภสม. แล้ว ซึ่งคาดว่าต้องมีการผลักดันกลไกในการเจรจาแก้ไขปัญหาในเวทีต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง
โดยผู้อำนวยการกองความมั่นคงภายในประเทศ ในฐานะผู้แทนเลขาธิการ สมช. ระบุว่า“ทั้งสองกลุ่มนี้ สมช. เห็นควรผลักดันแก้ไขโดยอาศัยการสนับสนุนจากประเทศที่สามให้แก้ไขโดยเร็ว การดำเนินนโยบายที่แข็งกร้าวต่อเมียนมา ควรดำเนินการผ่านช่องทางระดับพหุภาคี โดยเฉพาะกลไกอาเซียน ซึ่งสอดคล้องนโยบายพรรครัฐบาลชุดใหม่ ที่ส่งเสริมให้ไทยแสดงบทบาทในกรอบอาเซียนมากขึ้น และผลักดันให้อาเซียนสร้างความสมานฉันท์ในการแก้ไขปัญหาในเมียนมา เพื่อหลีกเลี่ยงการสร้างความขัดแย้งโดยตรงระหว่างไทยและเมียนมา”
นอกจากนี้ผู้อำนวยการกองความมั่นคงภายในประเทศ สมช. ชี้แจงว่า การอนุญาตให้ผู้หนีภัยเป็นแรงงานอาจกระทบต่อการนำเข้าแรงงานต่างด้าวตามระบบMOU ได้ โดยกรณีผู้หนีภัยนี้ ทางการเมียนมาให้ผู้หนีภัยกลับเข้าไปแสดงตนก่อน แล้วกลับเข้ามาในประเทศไทย แต่สถานการณ์ปัจจุบันการดำเนินการส่วนนี้ชะงักลง ขณะเดียวกัน รัฐบาลไทยเกิดคำถามว่า ผู้หนีภัยที่ประสงค์ทำงาน จะเป็นทั้งสถานะผู้หนีภัยที่รับความช่วยเหลือ และแรงงานได้อย่างไร นอกจากนี้นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการพิเศษ สมช. ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ผู้หนีภัยชาวเมียนมา มีสถานะเป็นบุคคลเข้าเมืองผิดกฎหมายตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 สมช. จึงหาทางออกยั่งยืนคือ นโยบายการส่งกลับโดยสมัครใจ แต่มีข้อจำกัดอย่างสถานการณ์ในเมียนมา และนโยบายการตั้งถิ่นฐานใหม่อย่างในประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งคาดการณ์ว่าจะได้ปีละหมื่นคน
ผู้แทนกระทรวงมหาดไทย ชี้แจงว่า พื้นที่พักพิงชั่วคราวมีมาตั้งแต่ พ.ศ.2527 ถือว่าดำเนินการมาในห้วงระยะเวลายาวนานแล้ว การดำเนินการจึงค่อนข้างนิ่ง ปัญหาที่เกิดขึ้นจึงมักเป็นข้อเรียกร้องของชาวเมียนมาในพื้นที่พักพิงตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เช่น การขอไปทำงานนอกพื้นที่
ส่วนกรณี ผภสม. ผู้แทนปลัดกระทรวงมหาดไทยชี้แจงว่ามีจำนวน6,937 รายอยู่ในพื้นที่ปลอดภัยชั่วคราว ใน 3 อำเภอในจังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยมีฝ่ายทหารเป็นผู้ดูแล หากเกิดเหตุการณ์ไม่สงบ กระทรวงมหาดไทยในฐานะหน่วยงานสนับสนุน ก็เตรียมพื้นที่ปลอดภัยชั่วคราวเพิ่มเติมไว้รองรับได้ถึง 70,000 รายในจังหวัด 5 จังหวัดชายแดน ยืนยันว่า ปลัดกระทรวงมหาดไทย และอธิบดีกรมการปกครอง แจ้งผู้ว่าฯ และนายอำเภอ ให้รายงานเพื่อให้ดำเนินการในระดับนโยบาย ตลอดจนถือตามกรอบระเบียบแนวทางที่ สมช. กำหนดแนวทางไว้ชัดเจน และถือหลักมนุษยธรรมในการบริหารจัดการชาวเมียนมา
ด้าน ผู้อำนวยการสำนักปฏิบัติการ กรมยุทธการทหารบก ชี้แจงว่า กองทัพบกได้กำหนดช่องทางตามชายแดน รวม23 แห่ง ทั้งพื้นที่ปลอดภัยและพื้นที่พักรอ ที่ผ่านมามี ผภสม. สามารถเข้ามาในพื้นที่ปลอดภัยได้อย่างปลอดภัย ภายใต้การดูแลของหน่วยงานความมั่นคง และดูแลตามหลักมนุษยธรรม จนสามารถส่งกลับได้เมื่อสถานการณ์ปลอดภัย ถือเป็นภารกิจแฝงของกองทัพบก ส่วนภารกิจหลักของกองทัพบกนั้น กองทัพบกเตรียมกำลังให้มีความพร้อมปกป้องอธิปไตยและผลประโยชน์ของชาติ กรณีมีการล้ำแดนของกองกำลังในประเทศเพื่อนบ้านนั้น ก็มีมาตรการจากเบาไปหาหนัก ตลอดจนใช้กลไกความสัมพันธ์ระหว่างผู้บังคับบัญชาหน่วยพื้นที่กับเพื่อนบ้านตามแนวชายแดน เพื่อแจ้งเตือนตั้งแต่ระดับพื้นที่ ถึงกองบัญชาการกองทัพไทย (บก.ทท.) หากไม่ยุติ กองทัพบกจะใช้มาตรการทางทหารเพื่อตอบโต้ ผลักดัน และขับไล่ฝ่ายตรงข้ามให้ออกนอกประเทศได้โดยเร็วที่สุดตามสัดส่วนของภัยคุกคาม บนพื้นฐานอธิปไตยและความถูกต้อง
ผู้บัญชาการกองกำลังนเรศวร ชี้แจงว่า มีพื้นที่รับผิดชอบในจังหวัดตาก และจังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยหลักของการปฏิบัติการทางทหารจะมีการดูแลผู้ที่เดือดร้อนให้อยู่ในสภาพปลอดภัย ในพื้นที่ที่เราเตรียมการไว้ และให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรม ผ่านจุดรับการสนับสนุน ณ ที่ว่าการอำเภอ และต่อมาก็เชิญUNHCR ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง และ NGO มาประชุมถอดบทเรียน จนทำเป็นโมเดลทั้งในอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก และจังหวัดแม่ฮ่องสอน
Source: The Reporters